โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

บทความวิชาการ ความรู้สู่ประชาชน  โดย พญ. ปาจรีย์ ฑิตธิวงษ์ กุมารแพทย์ หน่วยผิวหนังเด็ก  โรงพยาบาลพระมงกฎุเกล้า

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ Atopic dermatitis เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่มีอาการผื่นคันเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ พบบ่อยในเด็กตั้งแต่วัยทารกและสามารถพบได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการตั้งแต่ก่อนอายุ 5 ขวบ ผู้ป่วยเด็กส่วนหนึ่งจะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือเริ่มมีอาการของโรคภูมิแพ้ระบบอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจหรือภูมิแพ้เยื่อบุตา ตามมาภายหลัง

สาเหตุและปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรค
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีปัจจัยทางพันธุกรรม การมีภูมิคุ้มกันไวเกินของร่างกาย ความบกพร่องของการสร้างสารให้ความชุ่มชื้นที่ผิวหนังตามธรรมชาติ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการผิวแห้ง การได้รับสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมหรือจากอาหารเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค โดยพบว่าหากพ่อหรือแม่หรือพี่น้องท้องเดียวกันเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้จมูก หอบหืด ภูมิแพ้เยื่อบุตา แพ้อาหาร เป็นต้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ที่ครอบครัวไม่ได้มีโรคภูมิแพ้ แต่ในผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว

ในวัยเด็กเล็ก อาหารอาจมีส่วนให้ผื่นกำเริบในผู้ป่วยบางรายที่แพ้อาหารโดยพบได้เพียงร้อยละ 10 ของผู้ป่วยที่อาหาร เป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดผื่น เช่น การแพ้โปรตีนนมวัว ไข่ขาว ไข่แดง แป้ งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง อาหารทะเล เป็นต้น ในเด็กโตสารก่อภูมิแพ้ที่สูดเข้าสู่ทางเดินหายใจ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา ซากแมลง รังแคสุนัข หรือแมว มีส่วนทำให้ผื่นกำเริบได้ นอกจากนี้ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เหงื่อ ความเครียด การสัมผัสสารระคายเคือง น้ำหอม ก็มีส่วนกระตุ้นโรค

อาการของโรค
ผื่นผิวหนังอักเสบของโรคนี้จะมีลักษณะเฉพาะในผู้ป่วยแต่ละวัย และจะมีอาการผื่นเรื้อรังหรือมีอาการเป็นๆ หายๆ เมื่อรักษาจนดีขึ้นก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ โดยผื่นมีลักษณะเฉพาะในแต่ละวัยดังนี้

1. วัยทารก จะเริ่มมีผื่นเห็นได้ชัดที่อายุ 3-4 เดือนเป็นต้นไป ผื่นมีสีแดง ขอบเขตไม่ชัด ผิวหนังไม่เรียบ สาก มีขุย บางครั้งมีน้ำแฉะเยิ้มบนผื่นจากการติดเชื้อโรคซ้ำซ้อน ส่วนใหญ่พบมีผิวแห้งร่วมด้วย และจะมีอาการคันมากจนอาจรบกวนการนอนหลับ พบผื่นได้บ่อยที่ใบหน้าโดยเฉพาะที่แก้ม 2 ข้าง แขน ขา โดยเฉพาะที่บริเวณด้านนอกของแขน ขา ข้อมือ ข้อเท้า บางรายพบมีผื่นบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขาบริเวณหลังเข่า หรืออาจมีขุยคันที่หนังศีรษะได้ การสังเกตอาการคันเมื่อทารกคันจะเอาใบหน้าถูกับที่นอนหรือเริ่มเอามือจิกตัวเอง อาจพบรอยเกาเป็นทางสีแดงได้ ผื่นมักไม่พบในบริเวณที่นุ่งผ้าอ้อมปิดและบริเวณรักแร้

2. วัยเด็กเล็กหลังอายุ 2 ปี จะพบมีผื่นคล้ายในวัยทารกได้ แต่จะมีอาการเด่นชัดที่บริเวณข้อพับต่างๆได้แก่ ข้อพับแขน ข้อพับขา บริเวณใต้ก้น รอบลำคอ รอบข้อมือ รอบดวงตา โดยเฉพาะที่บริเวณหนังตาบน หลังใบหู ข้อศอก หัวเข่า บางครั้งเกามากจนมีผิวหนังหนาตัวและสาก โดยเฉพาะที่ข้อพับและรอบลำคอ

3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ผื่นจะพบน้อยลงและสามารถเป็นผื่นได้ทั่วๆไป เช่น ตามแขน ขา ลำตัว รอบลำคอ ลำตัวในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีผื่นเป็นบริเวณกว้าง ผู้ป่วยมักมีผิวหนังแห้ง มีอาการคันรุนแรง ผู้ป่วยบางรายจะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือและเท้าได้

การดูแลรักษา
1. แพทย์จะให้คำแนะนำอธิบายการดำเนินโรคดังกล่าวข้างต้นและให้แนวทางการรักษาเพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจ

2. ดูแลผิวหนังให้มีความชุ่มชื้นลดอาการผิวแห้งโดยการอาบน้ำที่ถูกวิธี ไม่อาบน้ำที่ร้อนเกินไป ให้อาบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา วันละ 1-2 ครั้ง ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนสำหรับทารกและเด็กที่ไม่มีฟองมากหรือไม่มีฟอง ไม่เติมสีและกลิ่น โดยใช้เพียงปริมาณเล็กน้อย เวลาที่เหมาะสมในการอาบน้ำ คือ 5-10 นาที และหลังเช็ดตัวภายใน 3-5 นาที ให้ทาสารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังในรูปครีมหรือโลชั่นที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ทาทั่วทั้งตัวและใบหน้าทุกครั้ง โดยเว้น
รอบดวงตาและรอบปาก การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำมันให้ระวังการเกิดการอุดตันรูขุมขนและเกิดผดโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรืออาจเกิดสิวในวัยรุ่น การทาสารให้ความชุ่มชื้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคนี้

3. การทายาต้านการอักเสบของผื่น ได้แก่ยาทาสเตียรอยด์หรืออาจใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ โดยให้ใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น ให้ทายาบางๆ ที่ผื่นวันละ 2 ครั้ง จนกระทั่งผื่นหายสนิท ให้ทายาหลังจากที่ได้ทาสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังแล้ว ควรมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อให้แพทย์ประเมินการเพิ่มหรือลดความแรงของยาทาตามสภาพของผื่น ไม่ควรซื้อยาใช้เองโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การฉายแสงแดดเทียม หรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน มีที่
ใช้ในรายที่มีอาการรุนแรง โดยจะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาเป็นรายๆไป

4. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผื่นกำเริบ งดใช้เสื้อผ้าที่เป็นขนสัตว์หรือมีเนื้อผ้าหยาบหนา เช่นผ้ายีนส์ แนะนำการใช้ผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศดี การงดอาหารบางชนิดหรือการตรวจทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ให้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

5. หากมีอาการคันมากแพทย์จะพิจารณาให้รับประทานยาบรรเทาอาการประเภทยาแก้แพ้ การเกาจะยิ่งกระตุ้นให้ผื่นกำเริบและมีโอกาสติดเชื้อโรคทำให้การรักษาไม่ได้ผล

6. รักษาความสะอาดของร่างกาย ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ งดการเการุนแรง หลังออกกำลังกายที่มีเหงื่อออกมาก หรือหลังว่ายน้ำควรอาบน้ำและทาสารให้ความชุ่มชื้นทันที

7. ในระยะโรคสงบการทาสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังทั่วร่างกายเป็นประจำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ผิวหนัง ลดการระเหยของน้ำ ป้องกันเชื้อโรค และสารก่อภูมิแพ้

การป้องกันเมื่อยังไม่เป็นโรค
ในปัจจุบันยังไม่พบวิธีป้องกันการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีประสิทธิภาพ หลายวิธีการป้องกันยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แนะนำการรับประทานนมมารดาแทนการเลี้ยงทารกด้วยนมผสมและการดูแลผิวหนังให้แข็งแรง โดยเฉพาะทารกกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมสี ไม่มีกลิ่น หรือไม่ใส่สารทำฟองมาก

BRDERM THAILAND

BeRich (Thailand) Co., Ltd.
เลขที่ 48 ถ.เพชรบุรี แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กทม. 10400

Contact

Tel: +66(0)26139750, +66(0)26139243-4, +66(0)26139993-4 (ต่อคุณเก๋)
Fax: +66(0)26139751
Email: brt@berichthailand.com
ID Line: @brderm

QR Website

Search